ชนิดของการละลายน้ำแข็ง ( Defrost Control Types )

การละลายน้ำแข็งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความเย็นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะห้องเย็นที่อุณหภูมิติดลบมากๆ จะต้องตั้งโปรแกรมในการละลายน้ำแข็งให้เหมาะสม ซึ่งการละลายน้ำแข็งจะต้องมีสิ่งที่พิจารณาอยู่ 2 อย่าง คือ ระยะเวลาที่ต้องการให้ละลายน้ำแข็งแต่ละรอบ (Time Initiated) และ ระยะเวลาที่ต้องการให้มีการละลายน้ำแข็ง (Time Terminated)

ระยะเวลาที่ต้องการให้ละลายน้ำแข็งแต่ละรอบ (Time Initiated) คือ รอบของการละลายน้ำแข็ง โดยเราจะกำหนดว่าใน 24 ชั่วโมงต้องการที่จะให้มีการละลายน้ำแข็งกี่ครั้ง (การกำหนดค่าละลายน้ำแข็งจะให้เริ่มครั้งแรกที่เวลาเที่ยงคืน) ซึ่งรอบของการละลายน้ำแข็งนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าเราต้องการให้มีการละลายน้ำแข็งเป็น 4 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมงครั้งต่อวัน

ระยะเวลาที่ต้องการให้มีการละลายน้ำแข็ง (Time Terminated) คือ ระยะเลาในการละลายน้ำแข็ง ซึ่งเป็นการกำหนดการละลายน้ำแข็งในแต่ละครั้งจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ หรือเรียกได้ว่าเป็นระยะที่สิ้นสุดของการละลายน้ำแข็งเพื่อเป็นการเพิ่มความแม่นยำในการละลายน้ำแข็งมากยิ่งขึ้น

ในการตั้งเวลาเพื่อควบคุมการละลายน้ำแข็ง ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่เริ่มให้ละลายน้ำแข็งและเวลาที่ให้หยุดละลายน้ำแข็ง จะต้องสอดคล้องกัน อย่างไรก็ตามต้องคำนึงว่าเมื่อมีการละลายน้ำแข็งจะทำให้อุณหภูมิของระบบทำความเย็นสูงขึ้น ฉะนั้นเราจะต้องควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม และเพียงพอที่จะทำให้น้ำแข็งภายในอีแวปปอเรเตอร์ละลายให้หมด

1. การละลายน้ำแข็งโดยหยุดคอมเพรสเซอร์ (Compressor Shutdown Defrost) การละลายน้ำแข็งแบบง่ายที่สุด การละลายน้ำแข็งแบบนี้เหมาะสำหรับงานที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 1 C หลักการทำงานคือเมื่อมีการละลายน้ำแข็ง เทอร์โมสตัท (Thermostat) จะสั่งให้ Liquid Solenoid Valve เพื่อไม่ให้สารทำความเย็นเหลวไหลผ่านอุปกรณ์ควบสารทำความเย็น คอมเพรสเซอร์จะดูดสารทำความเย็นกลับไปเก็บที่ถังพักสารทำความเย็นจนทำให้แรงดันที่อยู่ในท่อทางดูด (Suction Line) มีค่าเป็น 0 psi คอมเพรสเซอร์จะถูกให้ตัดการทำงานด้วยอุปกรณ์ควบคุมด้านแรงต่ำ (Low Pressure Switch) ซึ่งขั้นตอนนี้จะเรียกว่าการปั๊มดาวน์ (Pump Down) นอกจากนี้จะต้องให้พัดลมอีแวปปอเรเตอร์ทำงานตลอดเวลาเพื่อให้ลมไหลผ่านคอยล์ ระยะเวลาที่ต้องการให้ละลายน้ำแข็งแต่ละรอบ (Time Initiated) อาจจะตั้งไว้ที่ 2 ชั่วโมงครั้งต่อวัน

รูปที่ 1 แสดงระบบทำความเย็นที่ใช้การละลายน้ำแข็งโดยหยุดคอมเพรสเซอร์

2. การละลายน้ำแข็งโดยขดลวดความร้อน (Electric Heater Defrost) การละละลายน้ำแข็งแบบนี้จะอาศัยความร้อนจากภายนอก อีแวปปอเรเตอร์มาใช้ในการละลายน้ำแข็ง โดยอีแวปปอเรเตอร์จะมีการติดตั้งขดลวดความร้อน (Heater) เข้าไปที่อีแวปปอเรเตอร์ โดยการควบคุมจะควบคุมให้ขดลวดความร้อนและพัดลมอีแวปปอเรเตอร์ทำงานสลับกัน ซึ่งระยะเวลาที่ต้องการให้ละลายน้ำแข็งแต่ละรอบ (Time Initiated) จะกำหนดให้เป็น 4 – 6 ชั่วโมงครั้งต่อวัน และระยะเวลาที่ต้องการให้มีการละลายน้ำแข็ง (Time Terminated) เป็น 25 – 30 นาที หรือให้ยกเลิกการละลายน้ำแข็งที่อุณหภูมิ 30 C ซึ่งการละลายน้ำแข็งแบบนี้จะต้องออกแบบให้ระบบมีการปั๊มดาวน์ (Pump Down) ด้วย

รูปที่ 2 แสดงระบบทำความเย็นที่ใช้การละลายน้ำแข็งโดยขดลวดความร้อน

3 การละลายน้ำแข็งโดยใช้แก๊สร้อน (Hot Gas Defrost) การละลายน้ำแข็งแบบนี้จะเป็นการนำเอาประโยชน์จากแก๊สร้อนที่ออกมาทางท่อด้านอัด (Discharge Line) ของคอมเพรสเซอร์ไปใช้ในการละลายน้ำแข็ง โดยจะอาศัยความร้อนแฝง (Latent Heat) ที่เป็นไอร้อนจากคอมเพรสเซอร์มาเป็นแหล่งความร้อนในการละลายน้ำแข็ง และใช้ความร้อนสัมผัส (Sensible Heat) มาทำให้ไอมีความร้อนเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะ ในการดำเนินการจะต้องมีการท่อเพิ่มอีกหนึ่งเส้น เรียกว่าท่อ Hot Gas ซึ่งเป็นท่อทองแดงขนาด 1/2” (หรือในการติดตั้งโดยทั่วไปเราจะเลือกขนาดของท่อ Hot Gas ให้มีขนาดเล็กกว่าท่อ Liquid 1 ขนาด) การติดตั้งจะต่อทางด้านท่อด้านอัด (Discharge Line) และด้านหลัง Expansion Valve ดังนั้นการละลายน้ำแข็งตัวควบคุมการละลายน้ำแข็งจะสั่งให้ Solenoid Valve ที่ติดตั้งอยู่ที่ท่อ Hot Gas ทำงาน สารทำความเย็นที่เป็นแก๊สร้อนจะไหลผ่านไปยังท่อ Hot Gas และไหลเข้าผ่านอีแวปปอเรเตอร์ และกลับเข้าคอมเพรสเซอร์ทางท่อด้านดูด (Suction Line) และการละลายน้ำแข็งแบบนี้คอมเพรสเซอร์จะต้องทำงานตลอดเวลา

รูปที่ 4 แสดงระบบทำความเย็นที่ใช้การละลายน้ำแข็งแบบแก๊สร้อน

4 การละลายน้ำแข็งโดยใช้สเปรย์น้ำ (Water Spray Defrost) การละลายน้ำแข็งแบบนี้ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับห้องเย็นขนาดใหญ่ที่ใช้อุณหภูมิตั้งแต่ -18 C หรือมากกว่านั้นหลักการละลายน้ำแข็งคือจะคล้ายกับการละลายน้ำแข็งด้วยขดลวดความร้อนและแบบแก๊สร้อน คือจะต้องให้ระบบทำความเย็นและพัดลมอีแวปปอเรเตอร์หยุดทำงาน น้ำที่ใช้จะเป็นน้ำที่อุณหภูมิปกติ (ประมาณ 30 C) และเมื่อน้ำเย็นไหลผ่านอีแวปปอเรเตอร์แล้ว อุณหภูมิน้ำจะลดต่ำลงมาที่ประมาณ 4 C และไหลลงไปทางท่อน้ำทิ้ง ซึ่งน้ำเย็นที่ได้อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปเพื่อเป็นการใช้พลังงานให้คุ้มค่า

รูปที่ 4 แสดงระบบทำความเย็นที่ใช้การละลายน้ำแข็งโดยใช้สเปรย์น้ำ